ข่าวประชาสัมพันธ์

14 – 31 มีนาคม 65 จังหวัดชัยนาท รณรงค์เคาะประตูบ้าน ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็ม 1 เข็ม 3 ให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต

นายแพทย์พัลลภ ยอดศิรจินดา  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท  เปิดเผยว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจากการระบาดโอไมครอนระลอกนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่าผู้เสียชีวิตร้อยละ 75 เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี โดยผู้สูงอายุ    ที่ฉีดวัคซีนครบ 3 เข็ม มีอัตราเสียชีวิตลดลง 41 เท่า เมื่อเทียบกับฉีด 2 เข็ม จึงได้จัดการรณรงค์      เคาะประตูบ้าน ในวันที่  14 – 31 มีนาคม 2565   เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็ม 1 เข็ม 3 ให้ประชากรกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง)  เพื่อลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต จึงขอเชิญผู้สูงอายุ และประชากรกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 2 ครบระยะแล้วรับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 และผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับทั้ง เข็ม 1 และเข็ม 3  รับการฉีดเข็ม 1 เพื่อลดการเสี่ยงเจ็บป่วย   รุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งการที่ทุกคนในครอบครัวได้รับวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ติดต่อขอรับบริการที่ รพ.สต.หรือหน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท โทร. 083-069-1823 093-008-5968 093-008-5927

สธ.ชัยนาท แนะ วันมาฆบูชาประชาชนเข้าวัดทำบุญ เวียนเทียน คุมเข้มมาตรการ COVID Free Setting ลดเสี่ยงโควิด-19

วันนี้(วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565) นายแพทย์พัลลภ  ยอดศิรจินดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า  การจัดงานในวันมาฆบูชา ต้องเป็นไปตามมาตรการ COVID Free Setting โดยจัดให้มีจุดคัดกรอง  ผู้เข้ามาร่วมงาน กำหนดระยะห่างระหว่างบุคคล โดยเฉพาะช่วงฟังเทศนาธรรม ทำบุญถวายสังฆทาน พิธีเวียนเทียน มีการจัดอาหารแบบแยกชุด รวมถึงการดูแลความสะอาดของสถานที่ และให้เปิดโล่ง เพื่อการระบายอากาศที่ดี ส่วนประชาชนที่ร่วมงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ต้องป้องกันตนเองขั้นสูงสุดด้วยหลัก UP–DMHTA พร้อมทั้งคัดกรองความเสี่ยงตนเองทุกวันผ่านระบบ “ไทยเซฟไทย” หากมีไข้ ไอ หรือมาจากพื้นที่เสี่ยง ควรงดออกจากบ้าน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 สำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก คนท้อง ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว แนะนำให้หลีกเลี่ยงการทำบุญที่วัด ให้ทำบุญผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เช่น ทำบุญผ่าน QR Code (e-Donation)  และเปลี่ยนเป็นการเวียนเทียนออนไลน์แทน ก็เป็นการสั่งสมบุญ และสร้างความสุขทางใจได้เช่นเดียวกัน

สธ.ชัยนาท แนะเยาวชนวันวาเลนไทน์ปีนี้ ยึดหลัก Start Safe SEX, Use Condom : รักปลอดภัยเริ่มที่ "ถุงยางอนามัย"

          วันนี้ 11 กุมภาพันธ์ 2565  นายแพทย์พัลลภ  ยอดศิรจินดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า เทศกาลแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี มักมีการแสดงความรักให้กัน การมอบของขวัญ ดอกไม้ ช็อกโกแลต รวมทั้งการแสดงออกถึงความรักด้วยการมีเพศสัมพันธ์ และโดยเฉพาะวัยรุ่นบางส่วนที่ตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันด้วยถุงยางอนามัย ซึ่งอาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมหรือติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้   จึงแนะนำหลัก Start Safe SEX, Use Condom :  รักปลอดภัยเริ่มที่ "ถุงยางอนามัย"เพื่อเป็นแนวทางให้กับเยาวชนได้เห็นถึงความสำคัญในการป้องกันตนเองและคู่ให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอชไอวี ตลอดจนส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยให้เป็นเรื่องปกติในการดูแลสุขภาวะทางเพศ รวมถึงการมีความรับผิดชอบต่อคู่และสังคม จึงอยากให้ทุกคนเริ่มที่การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ด้วยการ ใช้ถุงยางอนามัย (Use Condom) อย่างถูกวิธีทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ โดยเลือกให้ถูกไซส์ ใช้ให้ถูกสเต็ป เก็บและทิ้งให้ถูกวิธี ซึ่งถุงยางอนามัยเป็นอุปกรณ์ชนิดเดียวที่สามารถป้องกันได้ทั้งเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม การใช้ถุงยางอนามัยไม่ได้หมายความว่าไม่เชื่อใจต่อกัน แต่เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อตนเองและคู่ เพียงเริ่มต้นด้วยการหยิบถุงยางอนามัยมาใช้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ก็จะทำให้คุณมีรักที่ปลอดภัย ไร้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้  ข้อมูลจาก : กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565

สธ.ชัยนาทเตือน ระวังโรคไข้เลือดออก หลังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น หากมีไข้สูงลอยมากกว่า 2 วัน ให้รีบพบแพทย์ทันที

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 นายแพทย์พัลลภ  ยอดศิรจินดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ขณะนี้ในจังหวัดชัยนาทพบมีการแพร่ระบาดสูงขึ้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด  โดยประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันสำรวจจุดเสี่ยงแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย สำรวจพื้นที่ที่มีน้ำขัง โดยเน้นที่ภาชนะใส่น้ำหรือน้ำที่ตกค้างตามเศษขยะหรือภาชนะต่างๆ เนื่องจากยุงลายชอบวางไข่ในภาชนะที่มีน้ำใสและนิ่งไม่ใช่บ่อน้ำหรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ โดยร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณรอบๆ ตัวบ้านและในชุมชน พร้อมแนะให้ประชาชนเก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา นายแพทย์พัลลภ  กล่าวต่อว่า อาการเบื้องต้นของโรคไข้เลือดออกผู้ป่วยจะมีไข้สูง 2 วันอาการไม่ดีขึ้นอ่อนเพลียซึมลงปัสสาวะสีเข้ม หรือไข้ลดแล้วแต่มีอาการแย่ลงซึมกว่าเดิมเบื่ออาหาร ขอให้สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกและรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันทีและห้ามซื้อยามารับประทานเอง ผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไปเช่นปวดศีรษะตัวร้อนคลื่นไส้อาเจียนอ่อนเพลียปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามตัวสำหรับอาการเด่นคือไข้สูงเฉียบพลันแต่ส่วนมากไม่มีน้ำมูกไม่ไออาจมีจุดเลือดออกเล็กๆ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะมีเลือดออกที่อวัยวะภายในร่างกายเช่นทางเดินอาหารตับม้ามหรือไตวายมีโอกาสเกิดภาวะช็อกหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้ การป้องกันคืออย่าให้ถูกยุงกัด โดยการทายากันยุง นอนในมุ้ง และควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง

ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วม อย.ทลายแหล่งผลิตไส้กรอกมรณะ

ตำรวจสอบสวนกลางร่วม อย.ทลายแหล่งผลิตไส้กรอกมรณะ ยึดของกลางกว่า 32 รายการ มูลค่ากว่า 700,000 บาท วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปอท.รรท.รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., พ.ต.อ.นิทัศน์ แหวนประดับ ผกก.สภ.เมืองชลบุรี, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, นพ.วิทิต  สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, น.ส.อรสุรางค์  ธีระวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานอาหาร ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงาน กรณีจับกุมแหล่งผลิตไส้กรอกปนเปื้อนพื้นที่  จ.ชลบุรี ตรวจยึดของกลาง 32 รายการ มูลค่ากว่า 700,000 บาท   สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ >>https://oryor.com/อย/detail/media_news/2219 ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารสุขภาพดี ๆ จาก อย. มาเป็นเพื่อนไลน์กับเราได้ที่ Line : @FdaThai เพียงแค่คลิก https://line.me/R/ti/p/Hik9-DvLsP

สธ.ชัยนาท แนะประชาชนเลือกซื้อของไหว้ให้ปลอดภัยช่วงตรุษจีน ปี 2565 และขอความร่วมมือประชาชนเคร่งครัดมาตรการป้องกันโควิด-19 ขั้นสูงสุด

         วันที่ 27 มกราคม 2565 นายแพทย์พัลลภ ยอดศิรจินดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า อีกไม่กี่วันก็ถึงเทศกาลตรุษจีน  ในช่วงเทศกาลนั้นจะมีประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีน ออกมาจับจ่ายซื้อสินค้า ทั้งผักสด ผลไม้ อาหารสดต่าง ๆ เพื่อที่จะนำไปใช้ไหว้บรรพบุรุษตามประเพณีตรุษจีน สิ่งที่สำคัญที่ตรวจพบกันทุกปี คือ ความปลอดภัยของอาหาร การเลือกซื้ออาหารสดต้องมีสภาพที่ปกติ เนื้อแน่น มีสีสม่ำเสมอตามธรรมชาติ และปราศจากกลิ่นที่น่ารังเกียจ ขนมต่าง ๆ     ที่จะนำมาเซ่นไหว้ควรเลือกขนมที่สีไม่ฉูดฉาด มีสี กลิ่นรสปกติ บรรจุอยู่ในภาชนะบรรจุที่สะอาด และไม่มีสีออกมาปนเปื้อนกับอาหาร การเลือกซื้อผักผลไม้สามารถลดการตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชได้ เช่น ล้างโดยใช้โซเดียม  ไบคาร์บอเนต (ผงฟู) และล้างน้ำสะอาดหลายๆครั้ง เปิดน้ำให้ไหลผ่านและใช้มือทำความสะอาดนาน     2 นาที หรือใช้ด่างทับทิมแช่ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที ระวังเรื่องธูปปักลงในอาหาร และผลไม้ขณะ        ทำการเซ่นไหว้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงอันตรายต่อร่างกาย เนื่องจากก้านธูปมักเป็นสีย้อมผ้า ซึ่งจะมีสารเคมี เช่น สารตะกั่ว ปรอท สารหนู โครเมียม เป็นต้น อาจละลายลงในอาหาร ความร้อนไม่สามารถทำลายได้ เมื่อรับประทานเข้าไป เช่น สารปรอท อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย และสะสมในร่างกาย เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งในระยะยาวได้ จึงขอให้ปักธูปในกระถางแยกต่างหากจากของไหว้ เพื่อให้ความมั่นใจแก่ประชาชนที่จะบริโภคอาหารในช่วงเทศกาลตรุษจีน ว่ามีความปลอดภัยอย่างแน่นอน           นายแพทย์พัลลภ   กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ยังเป็นการรวมตัวกันของญาติพี่น้อง เพื่อไหว้บรรพบุรุษ และรับประทานอาหารร่วมกัน หรือเดินทางไปไหว้ศาลเจ้า ซึ่งอาจมีผู้คนแออัด และเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้ ดังนั้น ขอความร่วมมือประชาชนเคร่งครัดมาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention : UP) ในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หากรับประทานอาหารร่วมกัน ให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว

สธ.ชัยนาท เชิญชวนชาวชัยนาทรับบริการทันตกรรม หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ได้ที่ สถานบริการใกล้บ้านภายใต้แนวทางวิถีใหม่

นพ.พัลลภ ยอดศิรจินดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า พ่อแม่พี่น้องชาวชัยนาทที่ได้รับความเจ็บปวดจากโรคในช่องปาก โดยเฉพาะปวดฟัน สร้างความทุกข์ทรมานให้กับทุกคนที่ต้องได้รับการรักษา บัดนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลายลง โรงพยาบาลและสถานพยาบาล กลับมาเปิดให้บริการทางทันตกรรม  ได้ตามปกติภายใต้แนวทางวิถีใหม่ในสถานการณ์โรคระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว จึงประชาสัมพันธ์ให้พ่อแม่พี่น้องที่เจ็บป่วยสามารถติดต่อรับการรักษาบริการกับสถานบริการใกล้บ้าน การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการบริการการรักษาทางทันตกรรม ให้ประชาชนติดต่อโรงพยาบาลก่อนรับการรักษา เดินทางมาเฉพาะผู้ป่วย โดยเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากตลอดเวลา มีมารยาทการไอจามในที่ส่วนรวม ล้างมือให้สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของ ก่อนออกจากที่พักให้ใช้ห้องน้ำมาก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ห้องน้ำร่วม เมื่อมาถึงให้รอในรถหรือข้างนอกก่อนถึงเวลานัดรับการรักษา สำหรับค่าใช้จ่ายให้ใช้ mobile banking หลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินสด ติดต่อสอบถามรับการรักษาทางทันตกรรมได้ที่ ฝ่ายทันตกรรม โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร โทร. 056-411-055 ต่อ 1214, 062-310-9213 โรงพยาบาลสรรคบุรี โทร. 056-481-016 ต่อ 312 โรงพยาบาลวัดสิงห์ โทร. 056-461-344 ต่อ 154, 063-874-5778 โรงพยาบาลมโนรมย์ โทร. 056-431-376 ต่อ 115 โรงพยาบาลหนองมะโมง โทร. 056-466-993 โรงพยาบาลสรรพยา โทร. 056-499-769 ต่อ 114, 086-440-4896 โรงพยาบาลหันคา โทร. 056-451-880 ต่อ 169, 086-392-3290 โรงพยาบาลเนินขาม โทร. 056-410-881, 056-410-880 ต่อ 23 (ระบบตอบรับอัตโนมัติ)

สธ.ชัยนาท ขยายเวลา Walk in ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก ถึง 31 ธ.ค 64 และเปิดให้ลงทะเบียนกระตุ้นไฟเซอร์ เข็ม 3 ตั้งแต่บัดนี้ถึง 10 ธ.ค 64 ได้ที่ รพ.สต.ใกล้บ้าน

วันที่ 1 ธันวาคม 2564 นายแพทย์พัลลภ ยอดศิรจินดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า ตามที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท  ได้กำหนดให้ในระหว่างวันที่ 8-30 พฤศจิกายน 2564 เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชน มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปและยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มาก่อน โดยได้มอบหมายให้ทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่งเร่งสำรวจประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในแต่ละหมู่บ้านและเชิญชวนให้มารับวัคซีน ซิโนแวคเข็มแรกได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่งใกล้บ้าน ได้ทุกวันเว้นวันหยุดราชการและนักขัตฤกษ์ ขณะนี้ได้ขยายเวลาไปจนถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2564และขอแจ้งให้ผู้ที่ได้รับวัคซีน ทั้งซิโนแวคและซิโนฟาร์มแล้ว 2 เข็ม รับการกระตุ้นไฟเซอร์เข็มที่ 3 ลงทะเบียนตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2564  เพื่อร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดความรุนแรงและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 รองรับการเปิดประเทศของรัฐบาล รวมทั้งเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดชัยนาท ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนมีผลดีกว่าการไม่ฉีดแน่นอน และวัคซีนไม่ว่าจะยี่ห้อใดก็ตามหากได้รับจนครบก็จะสามารถสร้างความปลอดภัย สร้างภูมิป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งนี้ประชาชนสามารถเดินทางมาฉีดวัคซีนเข็มแรกได้ทันที โดยไม่ต้องจองและลงทะเบียนล่วงหน้า ได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่งใกล้บ้าน   และสอบถามที่สายด่วน   083-0691823,  093 – 008 5968,093 – 008 5927

สธ.ชัยนาท แนะกระท่อมใช้อย่างไรให้ปลอดภัย หลังปลดล็อกจากยาเสพติด

           นพ.พัลลภ  ยอดศิรจินดา  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า   ปัจจุบันประเทศไทย ได้ปลดล็อกพืชกระท่อม พ้นจากสถานะยาเสพติด ซึ่งมีหลายคนเริ่มสนใจในสรรพคุณประโยชน์ ร่วมถึงโทษของพืชชนิดนี้  พืชกระท่อม เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ต้นสูงได้ถึง 15 เมตร เป็นพืชใบเดี่ยว ใบมีลักษณะคล้ายรูปไข่ ปลายแหลม โคนป้าน หูใบระหว่างก้านใบเป็นแผ่นคล้ายใบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ประกอบด้วยดอกสีเหลือง ในประเทศไทยมีหลายพันธุ์ พันธุ์ที่นิยมบริโภคกันมากคือ “พันธุ์ก้านแดง”ใบกระท่อมมีสารสำคัญคือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีคุณสมบัติเป็นยาแก้ปวด  ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า วิธีใช้ ใช้ใบสด 1-2 ใบ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร กรองเอากากออก  หรือใช้ใบสดมาเคี้ยว นพ.พัลลภ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระท่อมใช้อย่างไรให้ปลอดภัย ไม่ควรใช้มาก มากกว่า 10-25 มิลลิกรัม อาจทำให้ คลื่นไส้อาเจียน ทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ มือสั่น  ถ้ากินกระท่อมโดยไม่ได้รูดก้านทิ้ง อาจเกิดอาการอุดตันในลำไส้ที่เรียกว่า ภาวะถุงท่อม ในลำไส้ ไม่ควรใช้ในกลุ่ม เด็ก สตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร ผู้เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้มีความผิดปกติทางจิต ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ และผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หากมีอาการมึนเมา วิงเวียน ซึม จากการกินกระท่อมมากเกิน ให้ดื่มน้ำหรือกินของเปรี้ยว แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที สรรพคุณทางการแพทย์แผนไทย นิยมนำมาใช้เป็นตัวยาในตำรับยาแก้ท้องเสีย ปวดเบ่ง ท้องร่วง เช่นตำรับยาประสะกระท่อม ตำรับยาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แก้อักเสบ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง  เป็นต้น  ดังนั้นหากนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีกฎหมายควบคุม เช่น ยา อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ฯลฯ จำเป็นต้องขออนุญาตกับ อย. เพื่อความปลอดภัยและเพื่อยืนยันประสิทธิภาพและคุณประโยชน์ที่ชัดเจน ดังนั้นประชาชนควรบริโภคพืชกระท่อมด้วยความระมัดระวัง และควรปรึกษาแพทย์ หรือแพทย์แผนไทยก่อนใช้ หากมีภาวะผิดปกติต้องรีบไปพบแพทย์ทันที สายด่วนกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุขสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท    056 405516

สธ.ชัยนาทห่วงใยประชาชนดูแลสุขภาพในช่วงปลายฝนต้นหนาว

 เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนี้มีความชื้นสูง และป่วยแล้วจะเกิดโรคแทรกได้ง่าย ที่อันตราย คือ โรคปอดบวม จึงขอประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนให้ประชาชน ระมัดระวังโรคในช่วงปลายฝนต้นหนาว นพ.พัลลภ  ยอดศิรจินดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า ขณะนี้บางพื้นที่อากาศเริ่มหนาวเย็น และบางพื้นที่ยังมีฝนตกอยู่ อาจทำให้ผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็งและไตวาย เป็นต้น เสี่ยงป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจได้ง่าย ที่พบมากเช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และที่น่าห่วงก็คือโรคปอดบวม ซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนที่มักเกิดตามมาหลังจากเป็นไข้หวัด มักพบมากในช่วงฤดูฝน และช่วงปลายฝนต้นหนาว ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สวมเสื้อผ้าหลายชั้นให้ร่างกายอบอุ่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์     กินผักและผลไม้ให้มากขึ้น เนื่องจากในผักและผลไม้สดจะมีวิตามินซี สร้างภูมิต้านทานโรคได้ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีและใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย และใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ถ้าเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอหรือจาม สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันได้ทั้งโรคไข้หวัดและโรคโควิด-19 เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่คนแออัด หมั่นล้างมือบ่อยๆ เพราะมือเป็นอวัยวะสำคัญที่สามารถนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง อาทิ ทางปาก ทางจมูก ผิวหนัง  ท่านและบุคคลในครอบครับจะได้ห่างไกลจากโรค

8-30 พ.ย.64 สธ.ชัยนาท ให้รพ.สต.ทุกแห่ง รณรงค์ เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกให้ประชาชน ตั้งเป้าครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรในหมู่บ้าน

นายแพทย์พัลลภ ยอดศิรจินดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท  กำหนดให้ในระหว่างวันที่ 8-30 พฤศจิกายน 2564 เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ฉีดวัควีนโควิด-19 ให้ประชาชน มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปและยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มาก่อน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดอาการป่วยรุนแรง ลดการเสียชีวิต พร้อมเปิดจังหวัดชัยนาท โดยได้มอบหมายให้ทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่งเร่งทำแผนสำรวจประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในแต่ละหมู่บ้านและเคาะประตูบ้านเชิญชวนให้มารับวัคซีน ซิโนแวคเข็มแรกได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่งใกล้บ้าน ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ  ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนมีผลดีกว่าการไม่ฉีดแน่นอน และวัคซีนไม่ว่าจะยี่ห้อใดก็ตามหากได้รับจนครบก็จะสามารถสร้างความปลอดภัย สร้างภูมิป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งนี้ประชาชนสามารถเดินทางมาฉีดวัคซีนเข็มแรกได้ทันที โดยไม่ต้องจองและลงทะเบียนล่วงหน้า ได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่งใกล้บ้าน และสอบถามที่สายด่วน 083-0691823, 093 – 008 5968,093 – 008 5927  

ประชาสัมพันธ์ โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “เข้าถึง เข้าใจเทคนิคการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง (Risk Management Plan)

ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “เข้าถึง เข้าใจเทคนิคการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง (Risk Management Plan) ตามหลัก COSO เพื่อผลักดันการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ขององค์กร” ปีงบประมาณ 2565 รุ่นที่ 14 (Online) ค่าลงทะเบียนท่านละ 2,000 บาท เบิกได้ตามระเบีบบของทางราชการ    ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดรายละเอียดตามเอกสารที่แนบมาพร้อมนี้ โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “เข้าถึง เข้าใจเทคนิคการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง (Risk Management Plan)